คณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย จัดโครงการ คปภ.เพื่อชุมชน ปี 6 ที่จังหวัดชุมพร
วันนี้ (28 มี.ค. 66) ดร.สุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย เป็นประธานในกิจกรรมโครงการ คปภ.เพื่อชุมชน ปี 6 ณ องค์การบริหารส่วนตำบลถ้ำสิงห์ อำเภอเมือง จังหวัดชุมพร ซึ่งสำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย ร่วมกับภาคอุตสาหกรรมประกันภัย และหน่วยงานภาคีเครือข่ายที่เกี่ยวข้องจัดขึ้น โดยมีนายทศพล เผื่อนอุดม รองผู้ว่าราชการจังหวัดชุมพร พร้อมด้วย นางสาวเอื้องฟ้า นวลมี นายกองค์การบริหารส่วนตำบลถ้ำสิงห์ และส่วนราชการ ร่วมในกิจกรรม ซึ่งกิจกรรมดังกล่าว เป็นการจัดเวทีเสวนา ในหัวข้อ ประกันภัยน่ารู้ สู่ชุมชน เพื่อส่งเสริมความรู้ ความเข้าใจด้านการประกันภัย และผลักดันให้ระบบประกันภัยเข้าไปมีส่วนช่วยบริหารความเสี่ยงให้เหมาะสมกับความต้องการของกลุ่มเป้าหมาย พร้อมกันนี้ ทางคณะ คปภ. ได้มอบเงิน ให้แก่ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กบ้านถ้ำสิงห์ เพื่อสนับสนุนอุปกรณ์การเรียนแก่นักเรียนในพื้นที่
ดร.สุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย กล่าวว่า สำนักงาน คปภ. และภาคธุรกิจประกันภัย มีความยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ได้มาเยือนชุมชนบ้านถ้ำสิงห์ ซึ่งเป็นการลงพื้นที่ตามโครงการ คปภ. เพื่อชุมชนปี 6 ถือว่าเป็นการลงพื้นที่มาพบปะกับพี่น้องประชาชน แล้ว ยังเป็นการลงพื้นที่เพื่อจัดกิจกรรมส่งเสริมความรู้ด้านการประกันภัย ตามโครงการ"1 ภาค 1 ผลิตภัณฑ์" โดยได้ส่งเสริมให้มีการพัฒนา "กรมธรรม์ประกันภัยสวนยางพารา" ซึ่งผลิตภัณฑ์ประกันภัยดังกล่าว เกิดขึ้นจากการวิเคราะห์ข้อมูล วิถีชีวิต การประกอบอาชีพของประชาชนในภาคใต้ ประเทศไทยยังเป็นผู้ส่งออกยางพารา อันดับ 1 ของโลกมาอย่างต่อเนื่องมากกว่า 30 ปี จากข้อมูล ประเทศไทยมีพื้นที่เพาะปลูกยางพาราทั่วประเทศ รวม 24,753,253 ล้านไร่ จำนวนครัวเรือนที่ปลูกกว่า 1.7 ครัวเรือน ซึ่งในจำนวนนี้ เป็นพื้นที่ภาคใต้ไปแล้ว มากกว่า 14.38 ล้านไร่ การทำเกษตรกรรม ย่อมต้องพึ่งพาธรรมชาติ แต่ในบางครั้งก็ประสบกับปัญหาภัยธรรมชาติ โดยพื้นที่จังหวัดภาคใต้เคยประสบกับวาตภัย และอุทกภัยมาแล้วหลายครั้ง สำนักงาน คปภ. โดยสำนักงาน คปภ.ภาค 8 จังหวัดสุราษฎร์ธานี ได้รับรู้ถึงปัญหาดังกล่าว จึงได้ส่งเสริมให้มีการพัฒนาผลิตภัณฑ์ประกันภัยสวนยางพาราขึ้น เพื่อให้ความคุ้มครองพี่น้องเกษตรกรชาวสวนยางพารา โดยที่มีเบี้ยประกันภัยเพียง 99 บาทต่อไร่ ให้ความคุ้มครองภัยไฟไหม้ รวมถึงไฟไหม้ที่เกิดจากหรือผลมาจากฟ้าผ่า ภัยน้ำท่วม และภัยลมพายุ โดยขณะนี้อยู่ระหว่างประสานงานกับ ธ.ก.ส.เพื่อเพิ่มช่องทางจำหน่ายที่ใกล้ชิดกับพี่น้องเกษตรกรมากขึ้น
สำหรับจังหวัดชุมพร นอกจากจะมีการเพาะปลูกยางพาราแล้วยังมีพืชผลทางการเกษตรที่สำคัญที่จะขอพูดถึง 2 ชนิด อันดับแรกที่จะพลาดไม่ได้เลย นั่นคือ "กาแฟชุมพร" จังหวัดชุมพรเป็นจังหวัดที่มีพื้นที่เพาะปลูกกาแฟมากที่สุดของประเทศ สร้างผลผลิตได้มากกว่า 11,537 ตัน ทางคณะได้ดำเนินการเก็บรวบรวมข้อมูล ประเมินความเสี่ยงภัยที่เกิดกับพืชไร่กาแฟ และสอบถามความต้องการของเกษตรกรว่าการประกันภัยจะสามารถมาช่วยดูแล บริหารความเสี่ยงแก่พี่น้องเกษตรกรผู้เพาะปลูกกาแฟได้อย่างไรบ้าง ซึ่งจากข้อมูลทำให้ทราบว่าถึงแม้ต้นกาแฟโรบัสต้าจะมีความทนทานต่อสภาพดินฟ้าอากาศมากกว่าพันธุ์อาราบิก้า แต่ภัยธรรมชาติ โดยเฉพาะภัยแล้ง และน้ำท่วมก็เป็นปัจจัยสำคัญที่สร้างความเสียหายแก่ต้นกาแฟของเกษตรกรชาวชุมพรอยู่บ่อยครั้ง ทำเกิดความเสียหายเป็นจำนวนมาก ซึ่งผมและคณะจะนำข้อมูลที่ได้รับกลับไปเพื่อพิจารณาส่งเสริมและพัฒนาผลิตภัณฑ์ประกันภัยที่จะสามารถช่วยเหลือพี่น้องเกษตรกรผู้เพาะปลูกกาแฟจากภัยธรรมชาติต่อไป
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น