ชุมพร –
จัดงานแถลงข่าวงาน KMITL Street Food Chumphon
โครงการพัฒนาการท่องเที่ยวชุมพร “ประตูสู่แผ่นดินใต้”
การยกระดับอาหารริมบาทวิถีจังหวัดชุมพร
วันพุธ ที่ ๘ สิงหาคม เวลา ๑๖.๓๐.-๑๘.๓๐
น. ณ ลานกิจกรรมศาลหลักเมืองชุมพร อ.เมือง จ.ชุมพรโดย สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง
อาหารริมบาทวิถี ถือเป็นวัฒนธรรมการบริโภคของไทยที่มีความเป็น
อัตลักษณ์ และได้รับความสนใจอย่างมากจากนักท่องเที่ยวทั่วโลก โดยในปี พ.ศ.๒๕๕๕ CNNGO
ได้ยกให้ประเทศไทยมีอาหารริมบาทวิถีที่ดีที่สุดประเทศหนึ่งของโลก
และในปี พ.ศ. ๒๕๕๙ CNN
ยังได้จัดให้ประเทศไทยติดอันดับที่ ๑ จาก ๒๓
ประเทศที่มีอาหารริมบาทวิถีที่ดีที่สุดของโลก
อย่างไรก็ตาม อาหารริมบาทวิถีในประเทศไทย ผู้ประกอบการส่วนใหญ่เริ่มกิจการโดยใช้ความรู้
ความสามารถจากประสบการณ์ที่ตัวเองมีมา โดยไม่เคยผ่านการเรียนรู้หรือฝึกอบรมเรื่องหลักการสุขาภิบาลอาหาร
หรือแม้ได้รับการอบรมไปแล้ว
ก็ไม่รู้ว่าจะนำมาประยุกต์ปรับใช้กับร้านค้าของตนอย่างไร
ซึ่งความไม่รู้และไม่เข้าใจในเรื่องความปลอดภัยอาหารนี้
อาจนำมาซึ่งอันตรายต่อผู้บริโภคทั้งในด้าน กายภาพ เคมี และจุลินทรีย์ ยิ่งในยุคที่ข่าวสารต่างๆ
สามารถสื่อสารกันได้อย่างรวดเร็ว
ยิ่งเห็นความจำเป็นที่ผู้ประกอบการอาหารริมบาทวิถีจำเป็นต้องยกระดับในด้านความปลอดภัยอาหารให้ได้มาตรฐาน
เป็นการเพิ่มความมั่นใจให้กับผู้บริโภคทั้งคนในท้องถิ่นเอง
และนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและต่างชาติ ซึ่งทำให้เกิดการส่งเสริมเศรษฐกิจฐานรากให้เข้มแข็งและยั่งยืน
เกิดภาพลักษณ์ที่ดีทางด้านการท่องเที่ยวของประเทศ
จังหวัดชุมพร เป็นจังหวัดที่มีแหล่งท่องเที่ยวที่หลากหลาย
นักท่องเที่ยวทั้งไทยและต่างชาติมาเยี่ยมเยียนในแต่ละปีเป็นจำนวนมาก
เป็นจังหวัดที่มีทรัพยากรทางด้านวัตถุดิบอาหารที่สดและมีคุณภาพ ทั้งจากทะเล จากสวน
จากป่า ครบอุดมสมบูรณ์ ทางรัฐบาลได้สนับสนุนให้ชุมพรเป็นเมืองท่องเที่ยว
“เมืองรอง” ที่นักท่องเที่ยวสามารถนำไปลดหย่อนภาษีทั้งค่าอาหารและที่พัก
ในปี พ.ศ. ๒๕๖๑ ได้ ดังนั้น โครงการ “พัฒนาการท่องเที่ยวชุมพร
“ประตูสู่แผ่นดินใต้”: การยกระดับอาหารริมบาทวิถีในจังหวัดชุมพร”
จึงได้มีการจัดตั้งขึ้น โดยการดำเนินงานของ คณะอุตสาหกรรมเกษตร
สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง มีวัตถุประสงค์หลัก เพื่อยกระดับคุณภาพและความปลอดภัยของอาหารริมบาทวิถีในจังหวัดชุมพร
ให้ผู้ประกอบการมีความรู้ ความเข้าใจ ตระหนักเรื่องของสุขลักษณะและความสำคัญของการผลิตอาหารที่มีความปลอดภัย
นำไปสู่การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมที่ยั่งยืน โครงการฯ ได้มองมิติขององค์ประกอบทั้งหมดที่เกี่ยวข้องกับการยกระดับคุณภาพ
โดยมิติหลักคือด้านความปลอดภัยอาหาร ตั้งแต่ วัตถุดิบ การขนส่ง การเตรียม การประกอบอาหาร
ความพร้อมความสะอาดของอุปกรณ์และสถานที่ สุขลักษณะนิสัยส่วนบุคคล สิ่งแวดล้อม และมีการเสริมการพัฒนาให้ร้านค้าในมิติรองที่จะเป็นสิ่งช่วยดึงดูดให้ผู้บริโภคสนใจและเสริมให้เกิดการเพิ่มรายได้
ได้แก่ การออกแบบร้านค้าที่คำนึงถึงเรื่องความปลอดภัยอาหารและเพิ่มจุดที่น่าดึงดูดใจสำหรับลูกค้า การคิดค้นเมนูใหม่ๆ
การนำเสนอเรื่องราวของร้านค้าเพื่อสื่อสารกับผู้บริโภคทั้งชาวไทยและต่างชาติผ่านทางช่องทางสื่อต่างๆ
โดยความสำเร็จของโครงการฯ จะนำไปสู่การกระตุ้นเศรษฐกิจในระดับฐานราก รวมถึงเป็นการพัฒนาศักยภาพในระดับชุมชน
ให้มีความรู้ ความเข้าใจ ในเรื่องความปลอดภัยอาหาร ถือเป็นการพัฒนาอาหารริมบาทวิถีให้มีคุณภาพได้อย่างยั่งยืน
เป็นภาพลักษณ์ที่ดีในการท่องเที่ยว รวมทั้งเป็นต้นแบบที่ดีให้กับอาหารริมบาทวิถีในจังหวัดและภูมิภาคอื่น
วัตถุประสงค์
และเป้าหมายของโครงการฯ โดยหัวหน้าโครงการ นอกจากนี้ยังมีการบอกเล่าเรื่องราวการทำงานของผู้เชี่ยวชาญทั้ง
๔ ด้าน ที่ได้เข้ามามีส่วนในการพัฒนาอาหารริมบาทวิถีของชุมพร ได้แก่
ด้านความปลอดภัยอาหาร
ที่จะมาบอกเล่าถึงการพัฒนาความปลอดภัยอาหารว่า ไม่ใช่เพียงแค่การอบรมแล้วปล่อยให้ร้านค้าไปจัดการเอง
ผู้เชี่ยวชาญจำต้องทำงานเชิงรุก ลงพื้นที่ถึงหลังร้าน เพื่อวิเคราะห์และให้คำแนะนำแก่ร้านค้าแต่ละร้านตามบริบทที่แตกต่างกัน
ทั้งประสบการณ์ ลักษณะทางกายภาพของสถานที่วิธีการเตรียมอาหาร รวมทั้งความเสี่ยงของอาหารแต่ละชนิดที่ก่อให้เกิดความเสี่ยงที่ไม่เหมือนกัน
ทั้งนี้เพื่อให้ร้านค้าเกิดการสร้างความปลอดภัยอาหารได้ด้วยตัวเองอย่างยั่งยืน
ด้านการออกแบบร้านค้าและบรรจุภัณฑ์
การออกแบบร้านค้าคำนึงถึงการออกแบบให้ถูกต้องตามหลักความปลอดภัยอาหาร แต่ยังคงหน้าที่ของการเป็นร้านขายอาหารที่มีการจัดวางให้เหมาะกับการเตรียม
การปรุง ที่สะดวกรวดเร็วสำหรับร้านค้าแต่ละราย นอกจากนี้ยังมีการออกแบบตราสินค้าที่แสดงตัวตนของร้านค้า
ป้ายที่มีภาพอาหารที่สวยงามสื่อเรื่องราวจุดเด่นของร้าน บรรจุภัณฑ์ที่ออกแบบให้มีรูปแบบที่แปลกตาและสามารถบรรจุสินค้าขายได้อย่างเหมาะสม
ทั้งหมดนี้จะทำให้ร้านค้าดูโดดเด่นและได้รับความสนใจจากผู้ซื้อได้เป็นอย่างนี้ ซึ่ง
ในงานแถลงข่าวนี้จะมีการแสดงตัวอย่าง “ร้านค้าหรือรถเข็นต้นแบบ” ที่ออกแบบให้มีหลักของความปลอดภัยของอาหารจำนวน
5 ร้านค้าที่เข้าร่วมโครงการ ซึ่งขายอยู่บนถนนกรมหลวงฯ ได้แก่ ร้านสุดี
น้ำผลไม้ปั่น ร้านสับปะรดสวี ร้านสกายหมูพวง ร้านสลัดโรล ร้านผัดไทยเจ๊แจง
ด้านการพัฒนาเมนู
เป็นเรื่องราวของการสร้างสรรค์เมนู
โดยใช้วัตถุดิบที่มีในร้านผสมผสานกับวัตถุดิบท้องถิ่นของชุมพร
นำมาทำเป็นเมนูใหม่ที่น่าสนใจ นอกจากนี้ยังมีการแนะนำเทคนิคจากเชฟผู้มีประสบการณ์ในเรื่องการเตรียม
การปรุงอาหาร ที่จะช่วยให้ร้านค้าทำงานได้สะดวก รวดเร็ว ลดขั้นตอน
ด้านการเล่าเรื่องราวของร้านค้า
จะมีการเก็บข้อมูลทั้งภาพถ่ายและการสัมภาษณ์ร้านค้า นำมาเรียบเรียง
ตัดต่อเป็นเรื่องราวที่จะสื่อสารให้ลูกค้าเกิดความประทับใจและทราบจุดเด่นของแต่ละร้าน
ทั้งนี้จะสื่อสารผ่านช่องทางสื่อสังคมต่างๆ และทำเป็น 2 ภาษาทั้งไทยและอังกฤษ
นอกจากนี้
จะมีการสื่อให้เห็นภาพเบื้องต้นของการจัดงานอย่างเต็มรูปแบบ ของงาน “KMITL
Street Food Chumphon” โครงการพัฒนาการท่องเที่ยวชุมพร
“ประตูสู่แผ่นดินใต้”:
การยกระดับอาหารริมบาทวิถีในจังหวัดชุมพร ที่จะมีขึ้นในวันพฤหัสบดีที่ ๖ กันยายน
พ.ศ.๒๕๖๑ เวลา
๑๐.๐๐ - ๒๐.๐๐
ณ
ลานกิจกรรมศาลหลักเมืองชุมพร อ.เมือง จ.ชุมพร อีกด้วย
ท่านสามารถติดตามข่าวสารความเคลื่อนไหว
และกิจกรรมของโครงการได้ที่ เฟซบุ๊ก : @kmitlstreetfoodchumphon และเว็บไซต์ www.kmitlstreetfoodchumphon.com
ธนากร โกศลเมธี รายงาน /
ชุมพร
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น