ชุมพร – ท่าอากาศยานจังหวัดชุมพรตรวจพบนักท่องเที่ยวลักลอบขนปะการัง หอยมือเสือ
วันที่ 22 ตุลาคม 2561เวลา 10.00 น.
ที่ท่าอากาศยานชุมพร อำเภอปะทิว จังหวัดชุมพร
ผู้สื่อข่าวได้รับรายงานจากทางท่าอากาศยานว่า มีนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ
ลักลอบขนปะการัง ทั้งที่ยังมีชีวิต และซากของปะการัง ขึ้นเครื่องบิน นอกจากนี้
ยังมี เปลือกหอยมือเสือ หอยสังข์ ที่ท่าอากาศยานชุมพรตรวจยึดมาได้ระยะหนึ่งแล้ว
โดยล่าสุดพบนักท่องเที่ยวกลุ่มหนึ่งซึ่งเป็นชาวต่างชาติลักลอบขน ปะการังมีชีวิต
สีสันสวยงาม โหลดเข้ากระเป๋าเดินทาง ก่อนท่าอากาศยาน จะตรวจพบภายในเครื่องเอกซเรย์
และได้ตรวจยึดไว้ เพื่อนำส่งต่อกรมทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมต่อไป
นายอัมพร ภักดี
ผู้อำนวยการท่าอากาศยานจังหวัดชุมพร เปิดเผยว่า มีนักท่องเที่ยวที่เป็นชาวต่างชาติ
หลายรายแล้วที่เดินทางมาท่องเที่ยวในจังหวัดชุมพร และลักลอบนำเศษซากปะการัง
กลับติดไม้ติดมือไปด้วย ถือว่าเป็นการทำลายธรรมชาติของพื้นที่จังหวัดชุมพร
แต่ด้วยท่าอากาศยานชุมพรนั้น
ไม่มีอำนาจในการควบคุมตัวนักท่องเที่ยวที่กระทำการอย่างไม่เหมาะสมได้
ได้แต่เพียงยึดของกลางไว้เท่านั้น ซึ่งช่วงนี้ตรวจพบบ่อยขึ้น จึงทำให้ตนเองคิดว่าอาจจะต้องนำเรื่องเสนอต่อจังหวัด
เพื่อบูรณาการร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง มาตรการป้องกันไม่ให้เกิดขึ้นอีก
กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับปะการัง
สำหรับประเทศไทยมีกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการคุ้มครองปะการังอยู่หลายฉบับ
ทั้งการคุ้มครองตัวปะการังมีชีวิตและซากปะการัง
กฎหมายคุ้มครองพื้นที่และสิ่งแวดล้อมที่เกี่ยวข้องกับแนวปะการัง ได้แก่
พระราชบัญญัติส่งเสริมการบริหารจัดการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง พ.ศ. 2558
พระราชบัญญัติการประมง พ.ศ.2490 (แก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ.2496 และ 2528)
พระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ.2535 พระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติ
พ.ศ.2504 พระราชบัญญัติควบคุมการส่งออกไปนอกราชอาณาจักรซึ่งสินค้าบางอย่าง
พ.ศ.2482 พระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ.2535
ประกาศกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เรื่องพื้นที่คุ้มครองสิ่งแวดล้อมในบางจังหวัด
เป็นต้น พระราชบัญญัติให้อำนาจทหารเรือปราบปรามการกระทำผิดบางอย่างทางทะเล
พ.ศ.2490 พระราชบัญญัติธุรกิจนำเที่ยวและมัคคุเทศก์ พ.ศ.2535 และฉบับที่ 2
พ.ศ.2545 และมติคณะรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องอีก 3 ฉบับ
ซึ่งกฎหมายบางฉบับเกี่ยวข้องโดยตรงและบางฉบับเกี่ยวข้องในทางอ้อม
ดังนั้นหากมีการดำเนินการใดๆ
เกี่ยวกับปะการังควรต้องคำนึงถึงเรื่องของการบังคับใช้กฎหมาย
รวมทั้งหน่วยงานที่บังคับใช้กฏหมายในพื้นที่โดยเฉพาะหากเป็นพื้นที่อุทยานแห่งชาติ
เนื่องจากการฟื้นฟูปะการังไม่ได้อยู่ในข้อยกเว้นเรื่องการบังคับใช้กฎหมาย (กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง, 2549)
กรมประมงได้กำหนดมาตรการอนุรักษ์ทรัพยากรสัตว์น้ำดังต่อไปนี้
ผู้ฝ่าฝืนทำการประมงปะการัง หรือหินปะการังทุกชนิด ทุกขนาดไม่ว่าวิธีใด ๆ
ในทะเล หรืออ่าวในท้องที่จังหวัดชายทะเลทุกจังหวัด มีความผิดต้องโทษปรับตั้งแต่
5,000-10,000 บาท หรือจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือทั้งปรับทั้งจำ
ผู้ฝ่าฝืนทำการประมงดำน้ำโดยใช้อวนล้อมทุกชนิดทุกขนาด หรือลักษณะคล้ายกัน
โดยวางบนพื้นทะเลแล้วดำน้ำ เดินเหยียบย่ำบนแนวปะการังเพื่อไล่ต้อนปลาเข้าอวน
มีความผิดต้องโทษปรับตั้งแต่ 5,000-10,000 บาท หรือจำคุกไม่เกิน 1 ปี
หรือทั้งปรับทั้งจำ
ผู้ฝ่าฝืนทำการประมงโดยใช้กระแสไฟฟ้า วัตถุระเบิด สารเคมี
ยาเบื่อเมามีความผิดต้องโทษจำคุกตั้งแต่ 6 เดือน - 5 ปี
และปรับตั้งแต่10,000-100,000 บาท และริบของกลางทั้งสิ้น
ผู้ฝ่าฝืนส่งปะการัง ซากส่วนหนึ่งส่วนใด
ผลิตภัณฑ์จากปะการังและปลาสวนงามออกนอกประเทศ มีความผิดต้องโทษปรับเป็นเงิน 5
เท่าของสินค้า จำคุกไม่เกิน 10 ปี
หรือทั้งปรับทั้งจำและริบของกลางรวมทั้งสิ่งที่บรรจุและพาหนะใด ๆ
ที่ใช้ในการบรรทุกสินค้าซึ่งเกี่ยวเนื่องด้วยความผิด
ผู้ฝ่าฝืนมีหินปะการัง กัลปังหา เต่าทะเล
กระและผลิตภัณฑ์ไว้ในครอบครองเพื่อการค้า มีความผิดต้องโทษปรับไม่เกิน 20,000 บาท
หรือจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือทั้งปรับทั้งจำ
ผู้ฝ่าฝืนทำการประมงใจเขตรักษาพืชพันธ์ มีความผิดต้องโทษปรับ 10,000
บาท หรือจำคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือทั้งปรับทั้งจำ
ธนากร โกศลเมธี ศูนย์ข่าวชุมพร 0818923514
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น