“ดร.นฤมล”ถกทีมศก.ฐานรากเร่งออกเครื่องมือช่วยฝ่าวิกฤติสร้างแพลตฟอร์มอบรมพัฒนาอาชีพ-สร้างรายได้เริ่มส.ค.นี้
วันนี้ ( 4 กรกฎาคม 2565) ศ.ดร.นฤมล ภิญโญสินวัฒน์ เหรัญญิกฯ และหัวหน้านโยบาย พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) เปิดเผยว่า ได้ร่วมหารือกับ นายชวน ชูจันทร์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พปชร. และทีมเศรษฐกิจฐานรากของพรรคฯ เพื่อวางแนวช่วยเหลือยกระดับเศรษฐกิจฐานรากให้มีความเข้มแข็ง ทั้งในด้านการเสริมสร้างรายได้ การพัฒนาอาชีพ รวมไปถึงการส่งเสริมผู้ประกอบการใหม่ ผ่านการวางแพลตฟอร์มการเปิดอบรมถ่ายทอดองค์ความรู้ทางทฤฎีและสู่ภาคปฏิบัติ เชื่อมโยงการทำงานร่วมกันกับสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร(ส.ส.) และว่าที่ผู้สมัคร ส.ส. ที่ทำงานในพื้นที่อยู่แล้ว เพื่อเป็นกลไกขับเคลื่อนกิจกรรมให้เป็นรูปธรรม ที่จะนำไปสู่การเพิ่มศักยภาพเศรษฐกิจฐานรากให้ยั่งยืน เบื้องต้นคาดว่าจะเริ่มดำเนินการได้ในเดือนสิงหาคมนี้
“เราได้มีการหยิบยกประเด็นต่างๆ มาหารือที่จะพัฒนาสู่กิจกรรมการถ่ายทอดองค์ความรู้ให้กับชุมชน ทั้งการนำโมเดลความสำเร็จการพัฒนาชุมชนมาถ่ายทอดทางทฤษฏีและปฏิบัติ สร้างพื้นฐานความรู้ด้านการทำธุรกิจ โดยจะเป็นการเปิดอบรมเพื่อให้สามารถเจาะลึกถึงความต้องการในด้านต่างๆ โดยยังคงยึดมั่นในนโยบาย 3 เสาหลักเป็นสำคัญ ทั้งในเรื่อง สวัสดิการประชารัฐ เศรษฐกิจประชารัฐ และ สังคมประชารัฐ”ศ.ดร.นฤมลกล่าว
ทั้งนี้เป้าหมายการดำเนินงานมุ่งที่จะดูแลเศรษฐกิจฐานรากที่ปัจจุบันมีความอ่อนแอจากภาวะเศรษฐกิจที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดโควิด-19 และล่าสุดจากวิกฤติรัสเซีย-ยูเครนที่ทำให้ระดับราคาน้ำมัน และสินค้าต่างๆสูงขึ้นกระทบต่อค่าครองชีพ ทำให้ความเป็นอยู่ของประชาชนต้องเผชิญกับภาระรายจ่ายที่สูง โดย ส.ส.ชวน และทีมเศรษฐกิจฐานราก จะเป็นแกนหลักในการดำเนินงาน ซึ่งอยู่ระหว่างการพัฒนาแพลตฟอร์มที่จะนำมาใช้โดยเร็วเบื้องต้นได้มีการได้มีการระดมผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐกิจฐานราก มากำหนดรูปแบบการช่วยเหลือ ที่ต้องสะท้อนความต้องการชุมชน ทั้งในด้านการให้องค์ความรู้ในเรื่องการพัฒนาผลิตภัณฑ์ การทำการตลาดผ่านระบบE-Marketing ผ่านการอบรมหลักสูตร เพื่อการฝึกอาชีพ การให้บริการ การผลิตสินค้าชุมชน รวมถึงการสร้างผู้ประกอบการใหม่ (Entrepreneurs) ซึ่งจะมีผู้เชี่ยวชาญในแต่ละด้าน เข้ามาให้ความรู้กับผู้ฝึกอบรม
ทั้งนี้แนวทางพัฒนาแพลตฟอร์มขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานราก จากจุดเริ่มต้นจากการถ่ายทอดองค์ความรู้ ให้กับชุมชนแล้ว ยังสามารถขยายผลความช่วยเหลือ หรือสนับสนุนในรูปแบบกิจกรรมอื่นๆที่สามารถดึงภาคเอกชนที่พร้อมเข้าเข้ามาร่วมสนับสนุนอยู่แล้วภายใต้เงื่อนไขการทำ Social Enterprise ผ่านกลไกการทำงานด้วยรูปแบบกองทุนต่างๆ ที่พรรคได้ผลักดันให้เกิดขึ้นในอนาคต อาทิ Social Impact Fund ซึ่งเป็นกองทุนที่มีเป้าหมายในการช่วยเหลือกลุ่มคนต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นคนพิการ เกษตรกร ให้สามารถประกอบอาชีพได้ เพื่อที่จะทำให้ลดภาระการใช้งบประมาณของภาครัฐที่จะต้องไปลงทุนในเรื่องของโครงสร้างพื้นฐานด้านอื่นๆทำให้ประเทศไทยสามารถหลุดพ้นจากภาวะวิกฤติเศรษฐกิจทั้งระบบได้
ธนากร โกศลเมธีรายงาน
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น