ชุมพร - จัดพิธีสักการะเสาหลักเมืองจำลอง เพื่อความเป็นสิริมงคล
วันนี้ (6 เม.ย. 65) นายโชตินรินทร์ เกิดสม ผู้ว่าราชการจังหวัดชุมพร เป็นประธานในพิธีสักการะ
เสาหลักเมืองจำลอง ณ บริเวณสนามหญ้าภายในศาลากลางจังหวัดชุมพร พร้อมด้วยข้าราชการ พี่น้องประชาชน ร่วมสักการะเสาหลักเมืองจำลองเพื่อความเป็นสิริมงคล โดยเสาหลักเมืองจำลอง เดิมประดิษฐานอยู่ที่บริเวณ ห้องทำงานผู้ว่าราชการจังหวัดชุมพร ก่อนจะนำมาประกอบพิธี เพื่อเปิดโอกาสให้ข้าราชการ และพี่น้องประชาชน ได้สักการะเสาหลักเมืองจำลอง พร้อมอธิษฐานขอพรให้สมปรารถนาในเรื่องต่างๆ โดยหลังจากนี้ จะมีการอัญเชิญเสาหลักเมืองจำลอง ขึ้นรถขบวนแห่ไปยังศาลหลังเมืองชุมพร เพื่อร่วมประกอบพิธีบวงสรวงและสมโภชเสาหลักเมืองจังหวัดชุมพร ในวันที่ 7 เมษายน 2565 ณ ศาลหลังเมืองจังหวัดชุมพร
สำหรับประวัติความเป็นมา เมืองชุมพรได้ก่อสร้างมาแล้วประมาณ 600 ปี จนถึงปัจจุบัน
โดย "ศาลหลักเมืองจังหวัดชุมพร" ตั้งอยู่บริเวณหน้าอาคารสำนักงานเทศบาลเมืองชุมพร ซึ่งเป็นที่ตั้งของศาลากลางจังหวัดมาก่อน เป็นอาคารทรงปราสาท หลังคาจัตุรมุข ยอดปราสาททรงปรางค์ ภายในประดิษฐานเสาหลักเมือง เป็นเสาไม้เกาะสลักลวดลายไทย ลงรักปิดทอง โดยไม้ที่นำมาเป็นเสาหลักเมืองนั้นคือ "ต้นราชพฤกษ์" ซึ่งถือว่าเป็นไม้สิริมงคลสูงสุดในหมู่ไม้ทั้งหลาย เป็นไม้ที่มีอายุกว่า 100 ปีขึ้นอยู่ ณ วัดถ้ำรับร่อ อำเภอท่าแซะ จังหวัดชุมพร
ซึ่งเชื่อกันว่าเป็นที่ตั้งของ "เมืองอุทุมพร" หรือเมืองชุมพรมาแต่ดั้งเดิม โดยทำพิธีตัดเมื่อวันที่ 9 มกราคม 2535 ต่อมาจังหวัดชุมพรได้รับพระมหากรุณาธิคุณจาก สมเด็จพระสังฆราชสกลมหาสังฆปริณายก ได้เสด็จพระราชดำเนินวางศิลาฤกษ์หลักเมือง เมื่อวันที่ 19 กรกฎาคม 2535 ซึ่งได้รับพระมหากรุณาธิคุณฯ จากพระบาทสมเด็จ
พระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร โปรดเกล้าฯ ให้ข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ของจังหวัดเข้าเฝ้า เมื่อวันที่ 7 กรกฎาคม 2535 ณ พระราชวังไกลกังวล ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ สรงน้ำ ทรงพระสุหร่าย ทรงเจิม และทรงบรรจุแผ่นยันต์ยอดเสาหลักเมือง เพื่อทำพิธีเปิดศาลและเฉลิมฉลองต่อไป
จากนั้นจังหวัดชุมพรได้กราบบังคมทูลและได้รับพระกรุณาโปรดเกล้าฯ จากสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ได้เสด็จฯ เป็นองค์ประธานในพิธีเปิดศาลหลักเมืองชุมพร เมื่อวันศุกร์ที่ 31 กรกฎาคม พ.ศ.2535 ทั้งนี้การสร้างศาลหลักเมืองชุมพร เพื่อเป็นการแสดงกตัญญุตาคุณแก่แผ่นดิน อีกทั้งเป็นสัญลักษณ์ของการสร้างบ้านเมือง เป็นที่ยึดเหนี่ยวจิตใจของชาวชุมพร ตามโบราณประเพณีที่กำหนดให้มีศาลหลักเมืองด้วย
ธนากร โกศลเมธีรายงาน
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น