"พล.อ.ประวิตร" กรรมการสิ่งแวดล้อมสร้างความมั่นคงพลังงานเชื่อม คมนาคมพื้นที่เศรษฐกิจภาคใต้ จัดการขยะบนเกาะท่องเที่ยว
เมื่อวันที่ 15 กันยายน 2564 พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ (กก.วล.) ครั้งที่ 4/2564 ณ ห้องประชุมมูลนิธิอนุรักษ์ป่ารอยต่อ 5 จังหวัด ผ่านระบบวิดีโอคอนเฟอเรนซ์
โดยมี นาย วราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ในฐานะรองประธาน ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ในฐานะกรรมการและเลขานุการ มีกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมการประชุม
พล.อ.ประวิตรฯ กล่าวว่า ทั้งนี้ที่ประชุมฯ ได้มีการพิจารณารายงาน EIA จำนวน 5 โครงการ เพื่อความมั่นคงด้านพลังงาน ตามแผน PDP 2018 เพื่อเชื่อมโยงการคมนาคมในพื้นที่เศรษฐกิจภาคใต้ และเพื่อแก้ไขปัญหาการขาดแคลนน้ำของประชาชน ได้แก่
(1) โครงการโรงไฟฟ้าแม่เมาะทดแทน เครื่องที่ 8 – 9 ของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย
(2) โครงการโรงไฟฟ้าสุราษฎร์ธานี ชุดที่ 1 – 2 ของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (3) โครงการทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองแนวใหม่ สายอำเภอหาดใหญ่ – ชายแดนไทย – มาเลเซีย ของกรมทางหลวง
(4) โครงการอ่างเก็บน้ำน้ำญวน จังหวัดพะเยา ของกรมชลประทาน
และ (5) โครงการเพิ่มปริมาณน้ำต้นทุนให้เขื่อนภูมิพล แนวส่งน้ำยวม – อ่างเก็บน้ำเขื่อนภูมิพล ของกรมชลประทาน
ทั้งนี้ เจ้าของโครงการ ต้องดำเนินการตามมาตรการฯ ที่กำหนดในรายงานฯ อย่างเคร่งครัด พร้อมทั้งรับความเห็นของคณะกรรมการฯ ไปดำเนินการ และให้นำเสนอคณะรัฐมนตรีตามขั้นตอนต่อไป
พล.อ.ประวิตรฯ กล่าวว่า นอกจากนี้ ที่ประชุมฯ ได้พิจารณาเกี่ยวกับการกำหนดเงื่อนไข และหลักเกณฑ์การปลูกป่าทดแทน ตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 29 มกราคม 2556 สำหรับโครงการหน่วยงานรัฐ พิจารณาการกำหนดอัตราค่าบริการกำจัดขยะมูลฝอยขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่ได้รับการจัดสรรเงินกองทุนสิ่งแวดล้อม ตามมาตรา 88 แห่งพระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ. 2535 ใน อปท. 4 พื้นที่ รวมทั้งได้พิจารณาเกี่ยวกับประกาศกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จำนวน 2 ฉบับ ได้แก่ เรื่อง หลักเกณฑ์ และวิธีการจัดทำรายงานผลการปฏิบัติตามมาตรการที่กำหนดไว้ในรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมซึ่งผู้ดำเนินการ หรือผู้ขออนุญาตจะต้องจัดทำเมื่อได้รับอนุญาตให้ดำเนินโครงการหรือกิจการแล้ว พ.ศ. 2561 และการขอขยายระยะเวลาการใช้บังคับประกาศกระทรวงฯ เรื่อง กำหนดเขตพื้นที่และมาตรการคุ้มครองสิ่งแวดล้อม ในท้องที่จังหวัดเชียงใหม่ และจังหวัดลำพูน ออกไปอีก 2 ปี ในส่วนของการจัดการมลพิษสิ่งแวดล้อม ที่ประชุมได้พิจารณาร่างมาตรการและแนวทางในการแก้ไขปัญหาการบริหารจัดการขยะมูลฝอยบนเกาะ เพื่อให้เกาะท่องเที่ยวจำนวน 14 เกาะ สามารถบริหารจัดการขยะมูลฝอยได้เบ็ดเสร็จ พิจารณาสถานการณ์การเกิดเหตุเพลิงไหม้ กรณีโรงงานผลิตเม็ดโฟมและพลาสติก บริษัท หมิงตี้ เคมีคอล จำกัด จังหวัดสมุทรปราการ ซึ่งได้มีการกำหนดมาตรการสำหรับหน่วยงานเพื่อนำไปปฏิบัติต่อไป ในส่วนของการกำหนดมาตรฐานคุณภาพสิ่งแวดล้อม ได้พิจารณาปรับปรุงค่ามาตรฐานก๊าซคาร์บอนมอนอกไซด์และก๊าซไฮโดรคาร์บอนจากไอเสียรถยนต์ใช้งานขนาดเล็ก และกำหนดมาตรฐานควบคุมการระบายน้ำทิ้งจากสถานประกอบการขนาดเล็กที่ผลิตสินค้าหรือให้บริการบางประเภท ซึ่งมีกำลังการผลิตไม่ถึง 50 แรงม้า
ธนากร โกศลเมธีรายงานศูนย์ข่าวสารจังหวัดชุมพร 0818923514
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น