รมว.ดีอีเอส ติดตามความคืบหน้าโครงการนำร่อง “เกษตรดิจิทัล” จ.เชียงราย ลุยขับเคลื่อนเป้าหมายการใช้เทคโนโลยี 5G สู่การพัฒนาและเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันให้กับภาคการเกษตร
“ชัยวุฒิ” รมว.ดีอีเอส ลงพื้น ติดตามความก้าวหน้าโครงการนำร่อง “เกษตรดิจิทัล” ที่ศูนย์ฝึกอบรมผาหมี และตรวจเยี่ยมศูนย์ดิจิทัลชุมชน จ.เชียงราย ลุยขับเคลื่อนเป้าหมายการใช้เทคโนโลยี 5G สู่การพัฒนาและเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันให้กับภาคการเกษตร มุ่งสร้างให้เกิดเกษตรเชิงรุกด้วยนวัตกรรม สร้างประโยชน์ให้ครอบคลุม ยกระดับการสร้างงาน และรายได้ให้เกษตรกรและชุมชน อย่างยั่งยืน
เมื่อเร็วๆนี้ นายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) ลงพื้นที่ภาคเหนือเพื่อติดตามความก้าวหน้าการพัฒนาศูนย์ดิจิทัลชุมชน และมอบครุภัณฑ์ศูนย์ดิจิทัลชุมชน องค์การบริหารส่วนจังหวัดเชียงราย ตำบลริมกก อำเภอเมืองเชียงราย และเทศบาลตำบลเวียง ตำบลเวียง อำเภอเชียงแสนจังหวัดเชียงราย นอกจากนั้นยังได้ลงพื้นที่ตรวจติดตามความก้าวหน้าการนำร่องโครงการ “เกษตรดิจิทัล” ณ ศูนย์ฝึกอบรมผาหมี จังหวัดเชียงราย
กระทรวงฯ ได้รับมอบนโยบายจากรัฐบาลในการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ 5G ของประเทศไทย เพื่อต่อยอดการใช้ประโยชน์เทคโนโลยี 5G สู่การพัฒนาและเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันให้กับเซคเตอร์สำคัญๆ ของประเทศ โดยหนึ่งในนั้นคือ ด้านการเกษตร มุ่งสร้างให้เกิดเกษตรเชิงรุกด้วยนวัตกรรมดิจิทัล โดยใช้เทคโนโลยีดิจิทัลเพื่อส่งเสริมการบริหารจัดการเกษตรแบบเชิงรุก ตั้งแต่ต้นน้ำ-ปลายน้ำ เพื่อเพิ่มมูลค่าและต่อยอดภาคเกษตร
ทั้งนี้ กระทรวงฯ ได้ดำเนินการนำร่องเกษตรดิจิทัลด้วยเทคโนโลยี 5G ณ ศูนย์ฝึกอบรมผาหมี จังหวัดเชียงรายเป็นการดำเนินการนำร่องการใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยี 5G พื้นที่แรก โดยดำเนินการร่วมกันระหว่างหน่วยงานภาครัฐ ผู้ให้บริการโครงข่าย และเจ้าของพื้นที่ มีวัตถุประสงค์ที่จะนำโครงข่ายเทคโนโลยี 5G และเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องกับมาสร้างมิติใหม่ในการส่งเสริมการเกษตร เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในกระบวนการเพาะปลูก อาทิ การพัฒนาแนวทางการปลูกพืช โดยเฉพาะพืชที่มีมูลค่าสูงให้สอดคล้องกับต้นทุน การบริหารจัดการแปลงเพาะปลูกให้มีความแม่นยำและมีประสิทธิภาพด้วยเครื่องมือการสนับสนุนการวิเคราะห์และรายงานผล
ปัจจุบันศูนย์ฝึกอบรมผาหมี เป็นศูนย์วิจัยและพัฒนาพืชมูลค่าสูง ที่นับเป็นต้นกำเนิดของผลผลิตหลากหลายของโครงการพัฒนาดอยตุง อาทิ กาแฟ แมคคาเดเมีย วานิลลา บุก โกโก้ พืชผักเมืองหนาวปลอดสารพิษ ฯลฯ
“การผนึกกำลังนำ 5G ไปยกระดับเกษตรดิจิทัล นับเป็นก้าวย่างที่สำคัญ เนื่องจาก ภาคการเกษตรเป็นภาคส่วนที่ครอบคลุมประชากรส่วนใหญ่ของประเทศ ความสำเร็จในในครั้งนี้ แสดงให้เห็นถึงความมุ่งมั่นในการพัฒนาภาคการเกษตรของประเทศไทย ทั้งจากภาครัฐ ผู้ให้บริการเครือข่าย และเจ้าของพื้นที่ ซึ่งจะนำไปสู่การลดปัญหาความยากจน สร้างองค์ความรู้ สร้างความเท่าเทียม และสร้างรายได้ให้เกษตรกร รวมถึง เป็นการสร้างอาชีพอย่างยั่งยืนให้กับประชาชนในพื้นที่ต่อไป” นายชัยวุฒิกล่าว
โดยโครงการนำร่องเกษตรดิจิทัลฯ ณ ศูนย์ฝึกอบรมผาหมี จะจัดทำแปลงสาธิตปลูกต้นวานิลลา ซึ่งเป็นพืชที่มีมูลค่าสูง และแปลงเกษตรผสมผสานบนพื้นที่ 7 ไร่ โดยติดตั้งอุปกรณ์ดิจิทัลในทุกขั้นตอนของการทำงาน เพื่อเก็บข้อมูลและนำมาพัฒนาแบบครบวงจร ตั้งแต่การผลิตจนถึงขั้นการแปรรูปสินค้าเพื่อจำหน่าย เช่น จำนวนต้น อุณหภูมิ ความชื้นการฉีดปุ๋ยบำรุงหรือสารกำจัดศัตรูพืช โดยมีการวิเคราะห์การเติบโต ระยะเวลาจัดเก็บและปริมาณผลผลิตที่จะได้รับเป็นต้น
ทั้งนี้ มีเป้าหมายหลักเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพกระบวนการเพาะปลูก เพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารจัดการข้อมูลแบบอัตโนมัติอย่างครบถ้วนและเป็นระบบ และเพื่อศึกษา วิจัย พัฒนา และสร้างองค์ความรู้ ยกระดับสู่ศูนย์กลางการพัฒนาด้านการทดลองปลูกพืชมูลค่าสูง และการถ่ายทอดองค์ความรู้สู่เกษตรกรและชุมชนต่อไป
รมว.ดีอีเอส กล่าวว่า ในปี 2564 และปี 2565 เป็นช่วงเวลาที่มีความสำคัญเป็นอย่างยิ่งในการขับเคลื่อนประเทศด้วยเทคโนโลยี 5G เนื่องจาก จะเป็นปีที่ทุกภาคส่วนเร่งมือขับเคลื่อนการใช้ประโยชน์จาก 5G อย่างเต็มรูปแบบ เพื่อสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันให้กับประเทศ และที่สำคัญช่วงที่ผ่านมาได้เห็นศักยภาพของ 5G ที่สามารถเข้ามาฟื้นฟูเศรษฐกิจของประเทศไทยในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19
นอกจากนี้ ตามที่รัฐบาลได้มีนโยบายที่จะนำพาประเทศไทยก้าวสู่ “ไทยแลนด์ 4.0” ด้วยการนำเทคโนโลยีดิจิทัลเข้ามามีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคม เพื่อส่งเสริมเศรษฐกิจรากฐานของประเทศให้เข้มแข็งและเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันในเวทีโลก และการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลให้มีประสิทธิภาพสูงครอบคลุมทั่วประเทศที่ทุกคนเข้าถึงได้ ดีอีเอส ในฐานะกระทรวงที่รับผิดชอบด้านเทคโนโลยีดิจิทัล ซึ่งเป็นแกนหลักในการผลักดันให้เกิดสังคมแห่งการสร้างภูมิปัญญาและการเรียนรู้ (Knowledge Base Society)
โดยดำเนินโครงการศูนย์ดิจิทัลชุมชน โดยการยกระดับศูนย์การเรียนรู้ไอซีทีชุมชน ที่จัดตั้งอยู่ในสถานที่ต่าง ๆ ทั่วประเทศ อาทิ วัด มัสยิด โรงเรียน สถานที่ราชการในท้องถิ่น และชุมชนที่เหมาะสม กระจายอยู่ 77 จังหวัดทั่วประเทศจำนวน 500 แห่ง เป็นศูนย์ดิจิทัลชุมชน เพื่อใช้เป็นแหล่งการเรียนรู้ด้านเทคโนโลยีดิจิทัลของเด็ก เยาวชน และประชาชนในชุมชน สามารถสืบค้นข้อมูล เรียนรู้ได้ด้วยตนเองผ่านเครือข่ายอินเทอร์เน็ต ส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิตและส่งเสริมการค้าขายสินค้าออนไลน์ เพื่อเพิ่มรายได้ให้กับประชาชน
อีกทั้ง ยังเป็นการขยายการให้บริการอินเทอร์เน็ต ทั้งทางด้านข้อมูลข่าวสารและเทคโนโลยีไปสู่ส่วนท้องถิ่น และลดช่องว่างในการเข้าถึงเทคโนโลยีดิจิทัล และให้ประชาชนในท้องถิ่นมีการเข้าถึงสารสนเทศ และบริการภาครัฐเพิ่มมากขึ้นด้วย
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น