นางสาว ภนิดา นพชำนาญ ผู้อำนวยการโรงเรียนชุมชนวัดขันเงิน พร้อมคณะครูโรงเรียนชุมชนวัดขันเงิน

นางสาว ภนิดา นพชำนาญ ผู้อำนวยการโรงเรียนชุมชนวัดขันเงิน พร้อมคณะครูโรงเรียนชุมชนวัดขันเงิน
ถวายพระพร

ทิป สนับสนุนเว็บ Pages ครับ

ทิป สนับสนุนเว็บ Pages ครับ
ทิป บ๊อก สนับสนุน เว็บ Pages

วันพุธที่ 15 กรกฎาคม พ.ศ. 2563

ชุมพร - จัดสัมมนาเครือข่ายชาวสวนทุเรียนภาคใต้ เดินหน้าขับเคลื่อนการผลิตทุเรียนคุณภาพเชื่อมโยงเครือข่ายทั้งระบบ


ชุมพร - จัดสัมมนาเครือข่ายชาวสวนทุเรียนภาคใต้ เดินหน้าขับเคลื่อนการผลิตทุเรียนคุณภาพเชื่อมโยงเครือข่ายทั้งระบบ

วันที่15 กรกฎาคม  2563 เวลา10.00. นางกุลฤดี พัฒนะอิ่ม รองอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร เป็นประธานเปิดการสัมมนาเชื่อมโยงเครือข่ายชาวสวนทุเรียนภาคใต้ ณ โรงแรม ลอฟท์ มาเนีย อำเภอเมืองชุมพร จังหวัดชุมพร ซึ่งสำนักงานส่งเสริมและพัฒนาการเกษตรที่ 5 จังหวัดสงขลาร่วมกับสำนักงานเกษตรจังหวัดชุมพร และสมาพันธ์ชาวสวนทุเรียนภาคใต้ จัดขึ้นเพื่อให้เครือข่ายเกษตรกรผู้ผลิตทุเรียนในพื้นที่ภาคใต้ได้มีส่วนร่วมในการกำหนดแนวทางส่งเสริมการผลิตทุเรียนคุณภาพภายใต้การสนับสนุนของกรมส่งเสริมการเกษตรและสมาพันธ์ชาวสวนทุเรียนภาคใต้ กิจกรรมในงานประกอบด้วย การเสวนา เรื่อง อนาคตทุเรียนไทย จากคณะวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิ การเสวนา เรื่อง แนวทางส่งเสริมการผลิตทุเรียนคุณภาพ จากสมาพันธ์ชาวสวนทุเรียนภาคใต้ การแสดงนิทรรศการทางวิชาการและผลงานของสมาพันธ์ชาวสวนทุเรียนภาคใต้ รวมทั้งแปลงใหญ่ทุเรียนของจังหวัดชุมพร และการออกบูธ นำเสนอผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้องกับการจัดการสวนทุเรียนจากภาคเอกชน รวมถึงกิจกรรมกระชับความสัมพันธ์ของเกษตรกรผู้ผลิตทุเรียนภาคใต้ โดยมีเกษตรกรเข้าร่วมการสัมมนาจาก 14 จังหวัดภาคใต้ รวมจำนวน 400 คน โดยมุ่งหวังให้เครือข่ายเกษตรกรมีความมั่นคงและยั่งยืนในการประกอบอาชีพทำสวนทุเรียนต่อไป






นางกุลฤดี พัฒนะอิ่ม รองอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร เปิดเผยว่า ทุเรียนคือราชาแห่งผลไม้เขตร้อนที่มีความเป็นเอกลักษณ์ของประเทศไทย และประเทศไทยเป็นแหล่งผลิตทุเรียนที่ดีที่สุดของโลก เนื่องจากมีสภาพภูมิศาสตร์เหมาะสมต่อการเจริญเติบโต มีสายพันธุ์ทุเรียนที่ดี ตลอดจนเกษตรกรมีความสามารถในการใช้เทคโนโลยี ทางการเกษตรได้อย่างเหมาะสม ทำให้สามารถบริหารจัดการสวนทุเรียนได้อย่างมีประสิทธิภาพ ผลผลิตทุเรียนมีคุณภาพดี รสชาติเป็นที่ชื่นชอบของผู้บริโภคทั้งในประเทศและต่างประเทศ เป็นผลไม้เศรษฐกิจหลักอันดับ 1 ที่มีศักยภาพทางเศรษฐกิจสูงสุด ซึ่งยืนยันได้จากปริมาณผลผลิตทุเรียนสดส่งออกไปต่างประเทศ โดยในปี 2562 ประเทศไทยส่งออกทุเรียนไปต่างประเทศ จำนวน 655,346 ตัน คิดเป็นมูลค่าการส่งออกทุเรียนผลสดกว่า 45,000 ล้านบาท
สำหรับสถานการณ์การผลิตทุเรียนในภาคใต้ ซึ่งเป็นแหล่งผลิตสำคัญของประเทศไทย ลำดับที่ 2 รองจากภาคตะวันออก มีพื้นที่ปลูก 571,373 ไร่ ให้ผลผลิตแล้ว 437,995 ไร่ มีแปลงใหญ่ทุเรียน 75 แปลง เกษตรกรสมาชิกแปลงใหญ่ 3,452 ราย และกรมส่งเสริมการเกษตรได้คาดการณ์ว่าปี 2563 จะมีปริมาณผลผลิตทุเรียนจากภาคใต้ออกสู่ตลาดรวม 588,337 ตัน ซึ่งขณะนี้มีผลผลิตตามฤดูกาลออกสู่ตลาดแล้วตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2563 โดยมีการกระจายผลผลิตไปยังผู้บริโภคภายในประเทศและต่างประเทศที่สำคัญคือ การส่งออกทุเรียนผลสดไปยังสาธารณรัฐประชาชนจีนซึ่งเป็นตลาดส่งออกที่ใหญ่ที่สุดของทุเรียน ด้วยวิธีการกระจายผลผลิตผ่านผู้ประกอบการ (ล้ง) ซึ่งจังหวัดชุมพรนับเป็นตลาดสำคัญเนื่องจากมีล้งรับซื้อทุเรียนที่ใหญ่ที่สุดของภาคใต้ นอกจากนี้ยังกระจายผลผลิตผ่านวิสาหกิจชุมชน ศูนย์คัดแยกผลไม้ชุมชน สหกรณ์ กลุ่มเกษตรกร Modern Trade ไปรษณีย์ ตลาดออนไลน์ ตลาดค้าผลไม้ภายในจังหวัด การจำหน่ายตรงให้กับผู้บริโภค และการจัดงานประชาสัมพันธ์ ตลอดจนการแปรรูป ด้วยวิธีแช่แข็ง อบแห้ง กวน และทอด








กรมส่งเสริมการเกษตร ได้เล็งเห็นความสำคัญของทุเรียนทั้งทางด้านเศรษฐกิจและการขยายพื้นที่ปลูก จึงได้ร่วมกับเครือข่ายแปลงใหญ่ผู้ปลูกทุเรียน จัดตั้งเป็นสมาพันธ์ชาวสวนทุเรียนแห่งประเทศไทย ในปี 2562 โดยมีวัตถุประสงค์ เพื่อสร้างความเข้มแข็งให้แก่เกษตรกรผู้ปลูกทุเรียน และให้สมาพันธ์สามารถบริหารจัดการผลิตทุเรียนตลอดห่วงโซ่ เพื่อให้ผลผลิตมีความสมดุลกับความต้องการของตลาด สมาพันธ์ชาวสวนทุเรียนระดับภาคมีทั้งหมด 6 ภาค ตามเขตของกรมส่งเสริมการเกษตร สำหรับภาคใต้ปัจจุบันมี ดร.ฉัตรกมล มุ่งพยาบาล เป็นนายกสมาพันธ์ชาวสวนทุเรียนภาคใต้ มีคณะกรรมการรวม 20 คน มีสมาชิก 3,400 ราย 1 ปีที่ผ่านมา สมาพันธ์ชาวสวนทุเรียนภาคใต้ได้จัดทำระเบียบสมาพันธ์และอยู่ระหว่างเตรียมการจัดตั้งเป็นสมาคมชาวสวนทุเรียน รวมทั้งได้ร่วมกับสำนักงานส่งเสริมและพัฒนาการเกษตรที่ 5 จังหวัดสงขลา ถ่ายทอดความรู้การผลิตทุเรียนคุณภาพแก่สมาชิก และพัฒนาเกษตรกรต้นแบบในเรื่องการลดต้นทุนการผลิต การเชื่อมโยงตลาดกับลูกค้า และในอนาคตมีแผนขยายผลการลดต้นทุนให้ครอบคลุมสมาชิกจะทำให้เกษตรกรสมาชิกสมาพันธ์มีความเสมอภาคในการรับประโยชน์อย่างเท่าเทียมกัน
นายสุพิท จิตรภักดี ผู้อำนวยการส่งเสริมและพัฒนาการเกษตรที่ 5 จังหวัดสงขลา ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า 1 ปีกับการจัดตั้งสมาพันธ์ชาวสวนทุเรียนภาคใต้ ในฐานะหน่วยงานที่ดูแลการเกษตรของภาคใต้ได้ร่วมขับเคลื่อนกิจกรรมต่างๆ กับสมาพันธ์ฯ อย่างต่อเนื่อง ท่ามกลางสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัส โคโรน่าสายพันธุ์ใหม่ (COVID-19) ได้บริหารจัดการเพื่อรองรับผลกระทบที่จะเกิดขึ้นตั้งแต่ต้นฤดูกาลผลิต ขณะนี้สถานการณ์การส่งออกทุเรียนไปต่างประเทศ โดยเฉพาะจีน ยังมีความต้องการเป็นจำนวนมากและไทยยังส่งออกเป็นอันดับ 1 แต่การเพิ่มขึ้นของพื้นที่การปลูกทุเรียนทั้งในประเทศและเพื่อนบ้านเกิดการแข่งขันมากขึ้น ดังนั้นการพัฒนาคุณภาพจึงสำคัญมาก เป็นตัวกำหนดทิศทางอนาคตของทุเรียนไทย
การสัมมนาเชื่อมโยงเครือข่ายชาวสวนทุเรียนภาคใต้ครั้งนี้ เป็นความร่วมมือระหว่างกรมส่งเสริมการเกษตรโดยสำนักงานส่งเสริมและพัฒนาการเกษตรที่ 5 จังหวัดสงขลา สำนักงานเกษตรจังหวัดชุมพร และสมาพันธ์ชาวสวนทุเรียนภาคใต้ เพื่อให้สมาชิกเครือข่ายชาวสวนทุเรียนภาคใต้ ได้มีโอกาสเรียนรู้สถานการณ์การผลิตและการตลาดทุเรียนทั้งจากภาครัฐและเอกชน โดยได้รับความร่วมมืออย่างดียิ่งจาก ศูนย์วิจัยพืชสวนจันทบุรี กรมวิชาการเกษตร วิทยาลัยเทคนิคหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา ในการจัดนิทรรศการการผลิตทุเรียนคุณภาพ และจากภาคเอกชนในการแสดงและจำหน่ายปัจจัยการผลิตในแปลงทุเรียน
ด้าน ดร.ฉัตรกมล มุ่งพยาบาล นายกสมาพันธ์ชาวสวนทุเรียนภาคใต้และนายกสมาพันธ์ชาวสวนทุเรียนไทยคนแรก กล่าวถึง ผลการดำเนินงานในรอบปีที่ผ่านมาว่า สมาพันธ์ชาวสวนทุเรียนภาคใต้ ได้เริ่มมีบทบาทในการดำเนินงานทั้งในส่วนของการจัดตั้งองค์กร และการสนับสนุนทางวิชาการแก่เครือข่ายชาวสวนทุเรียนภาคใต้ ดังนี้
1. การประชุมคณะกรรมการสมาพันธ์ชาวสวนทุเรียนภาคใต้ เพื่อระดมสมองในการขับเคลื่อนการดำเนินงานของสมาพันธ์ ทั้งการขยายพื้นที่ให้ครอบคลุมทั้งภาคใต้ การกำหนดรูปแบบโลโก้ของสมาพันธ์และจัดทำเสื้อสมาพันธ์ชาวสวนทุเรียนไทย เพื่อใช้ในการสื่อสารประชาสัมพันธ์แก่บุคคลทั่วไป
2. การยกร่างระเบียบสมาพันธ์ชาวสวนทุเรียนไทยเพื่อให้ครอบคลุมสมาพันธ์ชาวสวนทุเรียนภาคใต้และภูมิภาคอื่น ๆ
3. การเตรียมการรับสมัครสมาชิกอย่างเป็นทางการเพื่อความมั่นคงและก้าวหน้าของสมาพันธ์ รวมถึงการหมุนเวียนเยี่ยมเยือนพบปะเพื่อนสมาชิกในพื้นที่จังหวัดต่าง ๆ ของภาคใต้ และภูมิภาคอื่น ๆ เพื่อกระชับความสัมพันธ์และแลกเปลี่ยนองค์ความรู้และข้อมูลสถานการณ์การผลิตทุเรียน
4. การบรรยายให้ความรู้แก่สมาชิกเครือข่ายเกษตรกรชาวสวนทุเรียนภาคใต้ในจังหวัดต่าง ๆ โดยเฉพาะการวางแผนการผลิตทุเรียนคุณภาพทั้งในฤดูและนอกฤดู เทคนิคการให้น้ำเพื่อพัฒนายอดและผล
ให้ถูกต้องตามเวลาที่เหมาะสม การลดต้นทุนการผลิตด้วยการใช้เคมีเกษตรอย่างถูกต้อง เหมาะสม ตรงเวลา และราคาถูก ซึ่งจะช่วยเพิ่มรายได้จากส่วนต่างที่หายไปของต้นทุนที่เกินความจำเป็น
5. การส่งเสริมนวัตกรรมอย่างง่ายในการป้องกันการเข้าทำลายของสัตว์และแมลงศัตรูทุเรียน เช่น การใช้แผ่นป้องกันการเข้าทำลายของกระรอก ซึ่งเกษตรกรสามารถตัดแผ่นพลาสติกขนาด 30 x 30 เซนติเมตร แล้วเสียบครอบที่ขั้วผลทุเรียน จะช่วยป้องกันไม่ให้กระรอกเข้าถึงผลทุเรียนได้ หรือการวางกับดักบริเวณทรงพุ่มเพื่อล่อผีเสื้อหรือแมลงอื่น ๆ ไม่ให้ไปวางไข่ที่ผลทุเรียนได้
6. การส่งเสริมและเป็นทีมที่ปรึกษาให้สมาชิกแปลงใหญ่ได้รวมกลุ่มวางแผนการผลิตทุเรียนคุณภาพแบบครบวงจร โดยทดลองดำเนินการในแปลงใหญ่ทุเรียนบ้านส้อง อำเภอเวียงสระ จังหวัดสุราษฎร์ธานี เพื่อสนับสนุนให้เป็นแปลงใหญ่ต้นแบบเพื่อการเรียนรู้ในการผลิตทุเรียนคุณภาพแบบครบวงจร ซึ่งประสบผลสำเร็จด้วยดี ส่งผลให้เกษตรกรสมาชิกแปลงใหญ่มีรายได้สูงขึ้น จากต้นทุนการผลิตที่ต่ำลง และผลผลิตมีคุณภาพ
ทำให้ขายได้ในราคาที่สูงขึ้น
7. การส่งเสริมและประชาสัมพันธ์ทุเรียนภาคใต้ให้เป็นที่รู้จักแก่นักท่องเที่ยวชาวไทยและชาวต่างชาติ โดยร่วมกับสำนักงานส่งเสริมและพัฒนาการเกษตรที่ 5 จังหวัดสงขลา จัดงาน มหกรรมทุเรียนคุณภาพภาคใต้ (Durian Premium in Southern of Thailand Festival)” ในระหว่างวันที่ 30 สิงหาคม – 2 กันยายน 2562 ณ ศูนย์การค้าจังซีลอน จังหวัดภูเก็ต และในคราวเดียวกัน ได้มีการลงนามในข้อตกลง
ความร่วมมือ (MOU) ระหว่างสมาพันธ์ชาวสวนทุเรียนไทยและบริษัท เซ็นทรัลฟู้ด รีเทล จำกัด
(ท็อปส์ ซูเปอร์มาร์เก็ต)
สำหรับแผนการดำเนินงานในอนาคตของสมาพันธ์ชาวสวนทุเรียนภาคใต้ ร่วมกับสำนักงานส่งเสริมและพัฒนาการเกษตรที่ 5 จังหวัดสงขลา และสำนักงานเกษตรจังหวัด 14 จังหวัดภาคใต้ จะขยายจำนวนสมาชิกให้ครอบคลุมทั้ง 14 จังหวัดภาคใต้ และจะร่วมกันส่งเสริมสนับสนุนเกษตรกรสมาชิกเครือข่ายสมาพันธ์ชาวสวนทุเรียนภาคใต้ ดังนี้
ต้นน้ำ
1. ส่งเสริมแนวคิดการสร้างจรรยาบรรณวิชาชีพของสมาชิก
2. ส่งเสริมการวางแผนการผลิตเพื่อตอบโจทย์การตลาด (แผนธุรกิจการเกษตร)
3. ส่งเสริมการเรียนรู้ปัจจัยพื้นฐานการผลิต ได้แก่ พฤติกรรมของพืช/จุดวิกฤตทุเรียน เทคโนโลยี/ปัจจัย
การผลิตทั้งเคมีเกษตรและสารชีวภัณฑ์ การเรียนรู้ภูมิประเทศและภูมิอากาศ การจัดการแรงงานภาคการผลิต
4. ส่งเสริมการเรียนรู้กระบวนการผลิตทุเรียนคุณภาพ ทั้งในฤดูและนอกฤดูกาลผลิต อย่างยั่งยืน ตลอดจนระบบการผลิตภายใต้มาตรฐาน GAP ทุเรียน
5. ส่งเสริมการประสานความร่วมมือกับหน่วยงานรัฐ เอกชน เกษตรกรในการพัฒนาทุเรียนคุณภาพ
6. ส่งเสริมการจัดการทุเรียนคุณภาพโดยแลกเปลี่ยน เรียนรู้ ทำหลักสูตรการจัดการทุเรียนคุณภาพที่ยั่งยืน (โรงเรียนทุเรียน)
7. ประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตสู่เกษตรกร
กลางน้ำ
1. ส่งเสริมการจัดทำฐานข้อมูลแปลงใหญ่ สมาชิกสมาพันธ์เชิงประจักษ์
2. ส่งเสริมการสร้างความเข้มแข็งกลุ่มเครือข่ายสมาชิกสมาพันธ์
3. ส่งเสริมแนวคิดการบริหารจัดการกลุ่ม/องค์กรชาวสวนทุเรียน โดยใช้หลักธรรมาภิบาล
4. ส่งเสริมแนวคิดการบริหารจัดการทรัพยากรด้านการเงิน (มีวินัยทางการเงิน)
5. ส่งเสริมการบริหารจัดการต้นทุนการผลิต ได้แก่ การบริหารจัดการปัจจัยการผลิตในแปลงปลูก
การรวมกลุ่มจัดหาปัจจัยการผลิตเพื่อลดต้นทุนการผลิต การจัดการปุ๋ยผสมตามความต้องการของต้นทุเรียนเพื่อใช้ให้เหมาะสมกับช่วงการพัฒนาและเจริญเติบโตของผลทุเรียน
6. ส่งเสริมการเข้าถึงเงินทุนและการบริหารเงินทุนในฤดูกาลผลิต ทั้งในรูปแบบบุคคลและรูปแบบกลุ่ม
ปลายน้ำ
1. ส่งเสริมการจำหน่ายในรูปแบบออนไลน์ หรือการส่งผลผลิตให้กับผู้บริโภคโดยตรง
2. ส่งเสริมการจำหน่ายสินค้าแปรรูปจากทุเรียนไปยังพื้นที่ต่าง ๆ
3. ส่งเสริมการประชาสัมพันธ์ทุเรียนอัตลักษณ์จากจังหวัดต่าง ๆ เพื่อเพิ่มมูลค่าและขยายตลาด
4. ส่งเสริมการนำทุเรียนคุณภาพเข้าจำหน่ายใน Modern trade
โดยคาดหวังผลสัมฤทธิ์จากแนวทางการยกระดับสมาชิกเครือข่ายชาวสวนทุเรียนภาคใต้ เพื่อการส่งเสริมการพัฒนาคุณภาพทุเรียน ดังนี้
1. เกษตรกรชาวสวนทุเรียนมีการรวมกลุ่มดำเนินกิจกรรมอย่างเป็นทางการ
2. มีการบริหารจัดการเพื่อให้ประสบผลสำเร็จ ได้แก่ มีการทำแผนธุรกิจทุเรียน ร่วมกันจัดหาปัจจัยการผลิต การเพิ่มช่องทางการตลาด การเพิ่มปริมาณและคุณภาพของผลผลิต จัดหาตลาดซื้อขายที่แน่นอน
3. มีการนำเทคโนโลยี นวัตกรรม และภูมิปัญญา มาปรับใช้ในแปลงปลูก มีการใช้เครื่องทุ่นแรง (เครื่องจักร เครื่องมือ) เพื่อลดการใช้แรงงาน
4. มีการบริหารจัดการเงินทุนและทรัพยากรของกลุ่ม เพื่อความเข้มแข็ง มั่นคง และยั่งยืนของกลุ่ม



ธนากร โกศลเมธี รายงาน ศูนย์ข่าวสารจังหวัดชุมพร 0818923514


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

ชุมพร -  เปิดศูนย์โรคหัวใจให้บริการแก่ผู้ป่วยในจังหวัดชุมพร ระนอง ประจวบคีรีขันธ์ และจังหวัดใกล้เคียง

   ชุมพร -  เปิดศูนย์โรคหัวใจให้บริการแก่ผู้ป่วยในจังหวัดชุมพร ระนอง ประจวบคีรีขันธ์ และจังหวัดใกล้เคียง เปิดศูนย์โรคหัวใจและหลอดเลือดอาภากร...