ชุมพร - เที่ยวปฐมฤกษ์ "สุรพงษ์" รมช. คมนาคม ลงชุมพรเปิดใช้รถไฟรางคู่ นครปฐม - ชุมพร
วันนี้(15 ธ.ค. 66) นายสุรพงษ์ ปิยะโชติ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม พร้อมด้วย นายนิรุฒ มณีพันธ์ ผู้ว่าฯ รฟท. นายอวิรุทธ์ ทองเนตร รอง ผู้ว่าฯ รฟท. และคณะลงพื้นที่สถานีรถไฟชุมพร ลงพื้นที่จังหวัดชุมพร เพื่อติดตามความพร้อม การเปิดเดินรถไฟทางคู่สายใต้ ช่วงนครปฐม - ชุมพร ซึ่งได้เดินทางมายังสถานีรถไฟชุมพร โดยมีนายวิสาห์ พูลศิริรัตน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดชุมพร พร้อมด้วยนายวิชัย สุดสวาสดิ์ สส.ชุมพร ,นายนพพร อุสิทธิ์ นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดชุมพร ให้การต้อนรับ ซึ่งนายนิรุฒ มณีพันธ์ ผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย ได้รายงานสรุปความพร้อมการเปิดเดินรถไฟทางคู่สายใต้ และการดำเนินการตามแผนการเชื่อมโยงการขนส่งทางราง
นายนิรุฒ มณีพันธ์ ผู้ว่าฯ รฟท. กล่าวเสริมว่า ขณะนี้ระบบรถไฟรางคู่ได้ดำเนินการเสร็จแล้วทางด้านโยธา ทำให้เราทำความเร็วในการเดินทางได้ดีขึ้นในระดับหนึ่ง และจะเร็วขึ้นไปอีกถ้าระบบอาณัติสัญญาณเรียบร้อยแล้ว แม้ว่าเราจะมีความเร็วขึ้นแต่ก็ยังไม่ดีเท่ากับความปลอดภัยในการเดินทาง เพราะการเดินทางเราไม่ต้องรอรถหลีก หรือรอรถสวนกันอีกแล้ว ทำให้เราเพิ่มศักยภาพในการเดินทางของระบบรางได้ดียิ่งขึ้น ส่วนงานสร้างสถานี บางส่วนก็แล้วเสร็จไปบ้าง แต่ก็ยังมีบางส่วนก็ใกล้จะแล้วเสร็จในระยะอันใกล้นี้
นายสุรพงษ์ ปิยะโชติ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม ได้ตรวจเยี่ยมสถานีรถไฟชุมพร และโรงซ่อมรถจักรชุมพร ก่อนเดินทางโดยขบวนรถไฟจากสถานีรถไฟชุมพรไปยังสถานีปราณบุรี พร้อมรับฟังบรรยายสรุปความพร้อมการเปิดเดินรถไฟทางคู่สายใต้ ระยะที่ 1 บ้านคูบัว - สะพลี โครงการรถไฟทางคู่สายใต้ และระยะที่ 2 ช่วงชุมพร - สุราษฎร์ธานี ช่วงสุราษฎร์ธานี - ชุมทางหาดใหญ่ - สงขลา และช่วงชุมทางหาดใหญ่ - ปาดังเบซาร์ ร่วมถึงติดตามการดำเนินการและแผนการเชื่อมต่อกับโครงการพัฒนา โครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคมขนส่ง เพื่อพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้เพื่อเชื่อมโยงการขนส่งระหว่างทะเลอ่าวไทยอันดามัน(Landbridge) การพัฒนาทางรถไฟเชื่อมนิคมอุตสาหกรรมโดยการก่อสร้างผ่านสถานีบริเวณจุดเชื่อมต่อประแจ และทาแยกสถานีนาผักขวง โครงการ SSI's Distribution Hub (ด้านเหนือ) โครงการ SSI's Logistic Terminal(ด้านใต้) เพื่อเชื่อมโยงการขนส่งทางรางรองรับอุตสาหกรรมเหล็กบางสะพาน และแนวทางการปรับปรุงขบวนรถไฟ
สำหรับนโยบายของรัฐบาลในการปรับเปลี่ยนรูปแบบการขนส่งจากถนนสู่การขนส่งทางรางที่มีต้นทุนต่ำกว่า ซึ่งจะช่วยลดต้นทุนการขนส่งด้านโลจิสติกส์ได้มหาศาล อีกทั้งช่วยเพิ่มความปลอดภัย ลดความเสี่ยงการเกิดอุบัติเหตุบริเวณจุดตัดทางเสมอระดับรถไฟ - รถยนต์ โครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่สายใต้ ช่วงนครปฐม - หัวหิน ปัจจุบันภาพรวมการดำเนินงานการก่อสร้างงานโยธามีความคืบหน้ากว่าร้อยละ 97 และสามารถเปิดใช้งานเปิดใช้ทางคู่ในช่วงแรก ระหว่างสถานีบ้านคูบัว จังหวัดราชบุรี ถึงสถานีสะพลี จังหวัดชุมพร รวมระยะทาง 348 กิโลเมตร ในวันที่ 15 ธันวาคม 2566 ส่วนช่วงที่สอง ระหว่างสถานีนครปฐม - บ้านคูบัว รฟท. มีแผนการจะเปิดใช้ทางคู่ประมาณช่วงเดือนเมษายน 2567 ขณะที่งานสะพานกลับรถ สะพานข้ามทางรถไฟ ได้มีการเปิดใช้งานและยกเลิกทางข้ามเสมอระดับทางรถไฟ จำนวน 24 แห่งจากทั้งหมด 30 แห่ง ซึ่งจะช่วยแก้ปัญหาการเกิดอุบัติเหตุบริเวณจุดตัดเสมอระดับทางรถไฟ - รถยนต์ให้กับประชาชนได้อีกทางหนึ่งด้วย
ธนากร โกศลเมธีรายงาน 0818923514
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น