ชุมพร - รพ.ชุมพรฯ จัดอบรมผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าและข้อสะโพกเทียมเพื่อผู้ป่วยด้อยโอกาส มีโอกาสเข้าถึงบริการและมีคุณภาพชีวิตที่ดี
วันนี้ (11 ก.พ.65) ที่ห้องประชุมอาภากร อาคารผู้ป่วยนอกและอุบัติเหตุฉุกเฉิน โรงพยาบาลชุมพรเขตรอุดมศักดิ์ นายโชตินรินทร์ เกิดสม ผู้ว่าราชการจังหวัดชุมพร พร้อมด้วยนางปวีณ์ริศา เกิดสม นายกเหล่ากาชาดจังหวัดชุมพร เป็นประธานในพิธีเปิดโครงการอบรมเชิงปฏิบัติการผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าและข้อสะโพกเทียมเพื่อผู้ป่วยด้อยโอกาสโรงพยาบาลชุมพรเขตรอุดมศักดิ์ ปีงบประมาณ พ.ศ.2565 เพื่อให้ผู้ป่วยด้อยโอกาส มีโอกาสเข้าถึงบริการและมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น
ผู้ว่าราชการจังหวัดชุมพร กล่าวว่า โรคกระดูกข้อเข่าและข้อสะโพกเสื่อม เป็นปัญหาสำคัญอย่างหนึ่งของประชาชน ดังนั้นการอบรมเชิงปฏิบัติการผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าและข้อสะโพกเทียมเพื่อผู้ป่วยด้อยโอกาสจึงเป็นประโยชน์อย่างยิ่งที่จะทำให้ผู้ป่วยด้อยโอกาสมีโอกาสเข้าถึงการบริการ ส่งผลให้ผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น สามารถใช้ชีวิตประจำวันได้อย่างปกติและสามารถปฏิบัติกิจกรรมต่าง ๆ ได้ด้วยตนเอง ซึ่งในโอกาสนี้ต้องขอขอบคุณผู้จัดทำโครงการ มูลนิธิศัลย์ฯ สร้างข้อต่อชีวิต ซึ่งเป็นมูลนิธิที่ส่งเสริมการจัดสวัสดิการให้แก่สังคมและบุคคลอื่นที่อยู่ในภาวะยากลำบากหรือจำเป็นต้องได้รับความช่วยเหลือ อีกทั้งสนับสนุนกิจการด้านสาธารณกุศลด้านสุขภาพและด้านคุณภาพชีวิตของประชาชน
ด้าน พญ.ปัทมพันธ์ อนันตาพงศ์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลชุมพรเขตรอุดมศักดิ์ เปิดเผยว่า ประเทศไทยมีผู้ป่วยที่ข้อเข่าและข้อสะโพกเสื่อม รอรับการผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าและข้อสะโพกจำนวนหลายแสนคน โดยผู้ป่วยเหล่านี้ ยังไม่สามารถเข้าถึงการรักษาได้ เนื่องจากมีปัญหาเรื่องค่าใช้จ่ายที่สูงมาก และศัลยแพทย์ที่มีความสามารถในการผ่าตัด มีจำนวนไม่เพียงพอ ทำให้ผู้ป่วยต้องรอเข้ารับการผ่าตัดเป็นระยะเวลานาน โรงพยาบาลชุมพรเขตรอุดมศักดิ์ ร่วมกับมูลนิธิศัลย์ฯ สร้างข้อต่อชีวิต จึงจัดทำโครงการผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าและข้อสะโพกเทียมเพื่อผู้ป่วยด้อยโอกาส ประจำปีงบประมาณ 2565 ขึ้น ระหว่างวันที่ 10-12 กุมภาพันธ์ ๒๕๖๕ มีวัตถุประสงค์หลักเพื่อให้ผู้ป่วยกลับมาเดินได้ มีคุณภาพชีวิตที่ดี และเพื่อให้ทีมสหวิชาชีพมีความรู้และทักษะในการดูแลรักษาผู้ป่วยผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าและข้อสะโพก
สำหรับการอบรมเชิงปฏิบัติการผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าและข้อสะโพกเทียมเพื่อผู้ป่วยด้อยโอกาสโรงพยาบาลชุมพรเขตรอุดมศักดิ์ จะแบ่งกิจกรรมออกเป็น 3 ระยะ ได้แก่ ระยะที่ 1 เป็นการเตรียมความพร้อมของผู้ป่วยก่อนผ่าตัด ซึ่งได้ดำเนินการไปแล้ว ระยะที่ 2 เป็นวันที่ผู้ป่วยเข้ารับการผ่าตัด ข้อเข่าและข้อสะโพก ซึ่งการผ่าตัดในวันนี้ (11 ก.พ.) เป็นการผ่าตัดแบบวันเดียวเสร็จ โดยใช้เทคโนโลยีหุ่นยนต์ช่วยผ่าตัด ร่วมกับ บุคลากรจาก คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล โรงพยาบาลศิริราชปิยมหาการุณย์ ศูนย์การแพทย์มหิดลบำรุงรักษ์ จังหวัดนครสวรรค์ คณะแพทย์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ สถาบันบำราศนราดูร ศูนย์การแพทย์กาญจนาภิเษก โรงพยาบาลเมดพาร์ค โรงพยาบาลพญาไท ๓ โรงพยาบาลไทยนครินทร์ โรงพยาบาลกรุงเทพ โรงพยาบาลข้อดีมีสุข โรงพยาบาลสมิติเวชไชน่าทาวน์ โรงพยาบาลสรรพสิทธิประสงค์ โรงพยาบาลศรีสังวรสุโขทัย โรงพยาบาลหัวหิน และโรงพยาบาลบางสะพาน รวมทั้งสิ้น 78 ท่าน และระยะที่ 3 จะเป็นการเป็นการจัดกิจกรรมเพื่อส่งเสริมและฟื้นฟูสมรรถนะให้กับผู้ป่วยหลังการผ่าตัด โดยทีมนักกายภาพบำบัด
ทั้งนี้ จากการอบรมดังกล่าว จะมีผู้ป่วยได้รับการผ่าตัด จำนวนทั้งสิ้น 35 คน โดยแบ่งเป็นการผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่า จำนวน 58 ข้อ และ ข้อสะโพก จำนวน 8 คน
ธนาคาร โกศลเมธี รายงาน
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น