ชุมพร - การประชุมแก้ไขปัญหาการกัดเซาะชายฝั่ง ระยะที่ 1พื้นที่ชายฝั่งบ้านหนองทองดี ถึงบ้านโพรง ตำบลบางมะพร้าว อำเภอหลังสวน
การประชุมประชาสัมพันธ์และประชุมรับฟังความคิดเห็น โครงการศึกษาเพื่อกำหนดแนวทางการป้องกันและแก้ไขปัญหาการกัดเซาะชายฝั่ง ระยะที่ 1 พื้นที่ชายฝั่งบ้านหนองทองดี ถึงบ้านโพรง ตำบลบางมะพร้าว อำเภอหลังสวน จังหวัดชุมพร
วันศุกร์ที่ 27 สิงหาคม 2564 เวลา 08.30-12.00 น. ณ ศาลาอเนกปฟระสงค์องค์การบริหารส่วนตำบลบางมะพร้าว ตำบลบางมะพร้าว อำเภอหลังสวน จังหวัดชุมพร และระบบวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ (Video Conference) ผ่านโปรแกรม Zoom Cloud Meeting นายสุริยา น้ำเงิน โยธาธิการและผังเมืองมาเป็นประธานเปิดการประชุมประชาสัมพันธ์และประชุมรับฟังความคิดเห็น โครงการศึกษาเพื่อกำหนดแนวทางการป้องกันและแก้ไขปัญหาการกัดเซาะชายฝั่ง ระยะที่ 1
พร้อมกับ นายสันต์ ฉิมหาด นายกองค์การบริหารส่วนตำบลบางมะพร้าว พ.ต.อ.วิษณุ สุระวดี ผกก.สภ.ปากน้ำหลังสวน นายวสันต์ วัฒนะรัตน์ ผู้ชำนาญการสิ่งแวดล้อม รศ.ดร. เชิดวงศ์ แสงศุภวานิช ผู้เชี่ยวชาญด้านวิศวกรรมชายฝั่ง คุณชัชชัย อภินันทิตยา วิศวกรโครงการ หัวหน้าส่วนราชการ ตัวแทนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ผู้นำชุมชน บริษัทที่ปรึกษา และประชาชนทุกท่าน จำนวน 20 ท่าน
นายสันต์ ฉิมหาด กล่าวว่า กรมโยธาธิการและผังเมืองได้ว่าจ้างกลุ่มบริษัทที่ปรึกษา ประกอบด้วย บริษัท เอส ที เอส เอ็นจิเนียริ่ง คอนซัลแตนท์ จำกัด และบริษัท แมคโครคอนซัลแตนท์ จำกัด ให้เป็นผู้ดำเนินการโครงการศึกษาโครงการ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อกำหนดแนวทางการป้องกันและแก้ไขปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งในพื้นที่ศึกษาตามแนวทางการจัดการชายฝั่งด้วยระบบกลุ่มหาดอย่างบูรณาการระหว่างหน่วยงานทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง และแก้ไขความเดือดร้อนของประชาชนที่ได้รับผลกระทบในพื้นที่ศึกษาตามระบบกลุ่มหาดที่มีความจำเป็นเร่งด่วนที่จะต้องได้รับการแก้ไขปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งทะเลก่อน เป็นกรอบแนวทางในการดำเนินมาตรการป้องกันแก้ไขปัญหาในเชิงพื้นที่ให้กับชายฝั่งที่ประสบปัญหาการกัดเซาะอย่างบูรณาการและเกิดผลสัมฤทธิ์อย่างแท้จริง และเพื่อออกแบบรายละเอียดตามมาตรการแก้ไขปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งในพื้นที่ที่ต้องดำเนินการแก้ไขปัญหา ซึ่งพื้นที่ชายฝั่งบ้านหนองทองดี ถึงบ้านโพรง ตำบลบางมะพร้าว อำเภอหลังสวน จังหวัดชุมพร เป็นหนึ่งในพื้นที่ศึกษาออกแบบตามผลการศึกษาตามร่างแผนหลักแนวทางและมาตรการแก้ไขปัญหาฯ ทั้งนี้ ในการดำเนินโครงการต้องดำเนินการควบคู่ไปพร้อมกับการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนและผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง สำหรับการประชุมในวันนี้เป็นการประชุมประชาสัมพันธ์และประชุมรับฟังความคิดเห็น เพื่อนำเสนอข้อมูลทางเลือกการป้องกันชายฝั่งที่เหมาะสม เพื่อชี้แจงรายละเอียดของโครงสร้างป้องกันการกัดเซาะชายฝั่ง และรับฟังข้อคิดเห็น ข้อเสนอแนะ พร้อมนำเสนอรายละเอียดผลกระทบสิ่งแวดล้อมเบื้องต้น และมาตรการป้องกันแก้ไขและลดผลกระทบโครงการ นอกจากนี้ ได้ขอความร่วมมือจากหน่วยงาน ภาครัฐ ภาคเอกชน องค์กรพัฒนาเอกชน และชุมชนต่าง ๆ ในการสนับสนุนการศึกษาโครงการ โดยเชิญผู้แทนจากหน่วยงานราชการ
ที่เกี่ยวข้องระดับจังหวัด ระดับอำเภอ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ผู้นำชุมชน และตัวแทนประชาชนที่อยู่ในพื้นที่โครงการ และพื้นที่ใกล้เคียงเข้าร่วมการประชุม
นายสุริยา น้ำเงิน เปิดเผยว่า เป็นที่ทราบกันดีว่าประเทศไทยมีแนวชายฝั่งทะเลทั้งฝั่งอ่าวไทยและทะเลอันดามัน
เป็นระยะทางยาวกว่า 3,148 กิโลเมตร ครอบคลุมพื้นที่ 23 จังหวัด เป็นชายฝั่งทะเลอ่าวไทย จำนวน 17 จังหวัด ความยาว 2,055 กิโลเมตร และชายฝั่งทะเลอันดามัน จำนวน 6 จังหวัด ความยาว 1,093 กิโลเมตร โดยปัจจุบันมีการใช้ประโยชน์พื้นที่ชายฝั่งทะเลที่หลากหลาย เช่น เป็นชุมชนที่อยู่อาศัย พื้นที่นันทนาการและการท่องเที่ยว การทำประมง และเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ เป็นต้น ดังนั้น ชายฝั่งทะเลจึงมีความสำคัญทั้งทางด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม
อย่างไรก็ดี พื้นที่ชายฝั่งทะเลนั้นมีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา ทำให้แนวชายฝั่งมีการเปลี่ยนแปลงทั้งการตกตะกอนทับถมและการกัดเซาะชายฝั่ง โดยในพื้นที่ศึกษาประสบปัญหา น้ำทะเลกัดเซาะตลิ่งบริเวณถนนเลียบชายหาดบ้านย่านสะบ้า ซึ่งถนนเลียบชายหาดนั้นส่วนใหญ่ประชิดแนวชายหาด ที่ผ่านมามีการแก้ไขปัญหาเพื่อบรรเทาปัญหาการกัดเซาะ ซึ่งหากรูปแบบการป้องกันที่เลือกใช้ไม่เหมาะสม จะทำให้การดำเนินงานไม่บรรลุวัตถุประสงค์ในการป้องกันการกัดเซาะชายฝั่ง
จากรายงานของผู้แทนกรมโยธาธิการและผังเมือง ที่ระบุว่า การดำเนินโครงการต้องดำเนินการควบคู่ไปพร้อมกับการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนและผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง โดยการประชุมในวันนี้เป็นการประชุมประชาสัมพันธ์และประชุมรับฟังความคิดเห็น เพื่อนำเสนอข้อมูลทางเลือกการป้องกันชายฝั่งที่เหมาะสม เพื่อชี้แจงรายละเอียดของโครงสร้างป้องกันการกัดเซาะชายฝั่ง และรับฟังข้อคิดเห็น ข้อเสนอแนะ พร้อมนำเสนอรายละเอียดผลกระทบสิ่งแวดล้อมเบื้องต้น และมาตรการป้องกันแก้ไขและลดผลกระทบโครงการ ซึ่งผมเชื่อมันว่าทุกท่านที่ร่วม อยู่ในที่ประชุมแห่งนี้มีศักยภาพ และพร้อมที่จะให้ความร่วมมือในการแสดงความคิดเห็นในแง่มุมต่าง ๆ ที่หลากหลาย เพื่อให้หน่วยงานนำแนวคิดที่ได้จากการรับฟังความคิดเห็นมาบูรณาการร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อให้เกิดประสิทธิภาพในการแก้ไขป้ญหาและเกิดความยั่งยืน
ธนากร โกศลเมธี /ภาพ
ธิติมา โกศลเมธีรายงานศูนย์ข่าวสารจังหวัดชุมพร 0623630027
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น